การศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการผลิตเหง้าไม้สักจากกิ่งตัดชำ ที่สถานีบำรุงพันธุ์ไม้สัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยแบ่งงานทดลองออกเป็น 2 ขั้นตอน ใหญ่ ๆ คือ การทดลองหาเทคนิคการย้ายชำ และเพาะชำกิ่งลงแปลงเพาะเพื่อผลิตเหง้า และการทดลองชำเหง้าที่ได้จากกิ่งตัดชำเปรียบเทียบกับเหง้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด
ผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่า
เทคนิคการย้ายชำกิ่งตัดชำลงแปลงเพาะที่ดีที่สุด คือ ทำการตัดชำลงบนแปลงเพาะโดยตรง ซึ่่่งจะดีกว่าการชำให้แตกรากก่อนแล้วย้ายลงแปลงภายหลัง โดยมีการเติบโตของกล้าไม้ตัดชำดีที่สุด มีเปอร์เซนต์การรอดตายและจำนวนรากหลัก (main root or tap root like root) ที่ได้ไม่ต่างจากการย้ายชำกิ่งตัดชำที่งอกรากแล้วชำลงแปลง เหง้าที่ได้จะมีจำนวนรากหลักระหว่าง 1-5 ราก เป็นเหง้าที่มีรากเดียว 22.41 % และเป็นเหง้าที่มีรากหลัก 2 ราก 43.42 %
การทดลองปักชำให้เกิดรากก่อน แล้วจึงย้ายชำลงแปลงเพาะนั้น พบว่า การเด็ดรากให้เหลือเพียง 1 ราก ก่อนการย้ายลงแปลงเพาะ ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของกล้าไม้ และจำนวนรากหลักที่ได้
การทดลองชำเหง้าที่ได้จากกิ่งตัดชำ พบว่า กล้าจากเหง้าของกิ่งตัดชำจะมีการเติบโตและเปอร์เซนต์การรอดตายสูงกว่าเหง้าจากเมล็ดที่ได้จากต้นกล้าที่มีอายุเท่ากัน
การทดลองแบ่งเหง้าที่ได้จากกิ่งตัดชำ ซึ่งปกติจะมีรากหลักมากกว่า 1 ราก ให้เป็น 2 ส่วน(เหง้า) จะทำให้เปอร์เซนต์การรอดตายของกล้าไม้ลดลงจาก 94.45% เป็น 83.33% รวมทั้งจะทำให้การเติบโตของกล้าไม้ลดลงด้วย
การทดลองชำรากของกิ่งตัดชำ (รากที่แตกจากรากหลักหรือส่วนของรากแขนของกิ่งชำ) พบว่า รากที่แตกจากรากหลัก ไม่สามารถที่จะนำไปขยายพันธุ์ได้และ ขนาดของเหง้าที่ได้จากกิ่งตัดชำ จะไม่มีผลต่อเปอร์เซนต์การรอดตายของกล้าไม้จากเหง้าแต่จะมีผลต่อการเติบโตของกล้าไม้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น